ทำไมต้องมี การตรวจสอบระบบไฟฟ้า ประจำปี ?
การตรวจสอบระบบไฟฟ้า ประจำปี คือสิ่งสำคัญที่ทุกหน่วยงานต้องปฏิบัติตาม เพราะไฟฟ้าเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นในการดำเนินชีวิตทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือนหากมีการใช้งานโดยไม่มีการบำรุงรักษาอาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้ได้ซึ่งปัจจุบันมีข่าวไฟไหม้ให้เห็นอยู่บ่อยครั้งและเมื่อเกิดไฟไหม้แล้วสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรซึ่งมาจากการขาดการตรวจสอบและบำรุงรักษาจึงทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้น
ตรวจสอบระบบไฟฟ้าประจำปี คืออะไร ตรวจเพื่ออะไร
การตรวจสอบระบบไฟฟ้าคือ การตรวจสอบ การทดสอบ การตรวจทดสอบ การศึกษาหรือค้นคว้า การวิเคราะห์ การหาข้อมูลหรือสถิติต่างๆ เพื่อเป็นหลักเกณฑ์หรือเป็นประโยชน์ประกอบการพิจารณาด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับการผลิต การส่งหรือเพื่อส่ง การจ่ายหรือเพื่อจ่าย การใช้หรือการซ่อมระบบไฟฟ้าในโรงงาน
การตรวจสอบระบบไฟฟ้าเป็นประจำทุกปี ช่วยให้เราสามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัย ซึ่งหากมีการตรวจสอบเป็นประจำทุกปี จะทำให้ทราบถึงสภาพความพร้อมของระบบไฟฟ้า และบริภัณฑ์ที่เกี่ยวกับไฟฟ้าว่ามีสภาพอย่างไร พร้อมใช้งานหรือไม่ หรือหากมีอุปกรณ์เสื่อมสภาพก็จะสามารถเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ได้ทันที ก่อนที่จะมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เนื่องจากระบบไฟฟ้าเป็นระบบที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก
หากมีเหตุขัดข้องจากระบบไฟฟ้าเกิดขึ้น ย่อมส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งในเชิงธุรกิจ และในด้านความปลอดภัย ซึ่งหากเราไม่มีการตรวจสอบระบบไฟฟ้าประจำปี อาจทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ส่งผลให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการตรวจสอบเป็นประจำทุกปี เพื่อให้รู้ว่าระบบไฟฟ้าของสถานประกอบกิจการอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานและสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบระบบไฟฟ้า
หากพูดถึงการตรวจสอบระบบไฟฟ้าประจำปีตามกฎหมาย สิ่งที่จะต้องพูดถึงอันดับแรก คือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบและรับรองระบบไฟฟ้าว่ามีกฎหมายฉบับไหนบ้างที่กำหนดไว้ว่าจะต้องมีการตรวจสอบ และมีความถี่ในการตรวจสอบอย่างไรบ้าง วันนี้เรามาดูกันว่ากฎหมายที่กำหนดให้ต้องตรวจสอบมีอะไรบ้าง
- กฎกระทรวง กำหนดมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าในโรงงาน พ.ศ. 2550กำหนดว่า “ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องจัดให้มีการตรวจสอบระบบไฟฟ้าในโรงงานและรับรองความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าในโรงงานเป็นประจำทุกปี และต้องมีเอกสารเป็นหลักฐานด้วย”
- กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า พ.ศ. 2558 กำหนดว่า “นายจ้างต้องจัดให้มีการตรวจสอบและจัดให้มีการบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้าเพื่อให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย” และ ได้มีประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่ออกตามกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า พ.ศ. 2558 อีก 1 ฉบับ คือ
- ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดทำบันทึกผลการตรวจสอบและรับรองระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้ากำหนดว่า
ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสอบและจัดให้มีการบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้าของสถานประกอบกิจการเพื่อให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และจัดทำบันทึกผลการตรวจสอบและรับรองระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้า และให้แจ้งผลการตรวจสอบและรับรองภายใน 15 วันนับแต่วันที่ตรวจสอบ
เมื่อดูจากกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ได้กำหนดให้มีการตรวจสอบและรับรองระบบไฟฟ้าอย่างน้อย 1 ครั้ง/ปี ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและความพร้อมของระบบไฟฟ้า
ใครเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองระบบไฟฟ้าประจำปี
ตามกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า พ.ศ. 2558 กำหนดว่าผู้ที่สามารถทำการตรวจสอบและรับรองระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้าตามที่กฎหมายกำหนด ต้องเป็นบุคคลที่ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 9 หรือ นิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 11 ตามกฎกระทรวง กำหนดมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าในโรงงาน พ.ศ. 2550 กำหนดว่าให้ตรวจสอบโดยวิศวกรซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาไฟฟ้าตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรซึ่งหากได้ดำเนินการตามกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งแล้ว ให้ถือว่าได้ทำการตรวจสอบและรับรองระบบไฟฟ้าประจำปีตามกฎหมายแล้ว
ข้อดีของ การตรวจสอบระบบไฟฟ้า ประจำปี
การตรวจสอบระบบไฟฟ้าประจำปี มีข้อดีมากมาย ดังนี้
- มั่นใจว่าระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้าสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย
- ป้องกันเพลิงไหม้เนื่องจากระบบไฟฟ้าขัดข้อง
- ยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ไฟฟ้า
- ทำให้รู้ก่อนเกิดเหตุ หากมีอุปกรณ์ไฟฟ้าเสื่อมสภาพ
- กระบวนการผลิตไม่หยุดชะงักเนื่องจากระบบไฟฟ้าขัดข้อง
สรุป
การตรวจสอบระบบไฟฟ้าต้องดำเนินการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจสอบสภาพความพร้อมของระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้าว่ายังอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานหรือไม่ หากพบว่ามีอุปกรณ์ที่เสื่อมสภาพจะได้รีบแก้ไขให้สามารถใช้งานได้ปกติและปลอดภัย โดยการตรวจสอบต้องทำโดยบุคคลหรือนิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย