ทำไมต้องมีการ ตรวจเครน ประจำปี
ปั้นจั่น หรือที่คนส่วนใหญ่มักเรียกกันว่า เครน (Crane) ซึ่งเครน คือ เครื่องจักรชนิดหนึ่งที่ใช้ยกสิ่งของขึ้นลงตามแนวดิ่ง และเคลื่อนย้ายสิ่งของในลักษณะแขวนลอยไปตามแนวราบ ซึ่งปัจจุบันมีการใช้งานปั้นจั่นอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นงานก่อสร้าง งานขนย้าย หรือแม้แต่ในภาคอุตสาหกรรม และต้องได้รับการ ตรวจเครน อย่างสม่ำเสมอทุกปีซึ่งปั้นจั่นหรือเครน มีหลายชนิดให้เลือกใช้ ซึ่งการใช้งานต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะของงาน และต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้งานเป็นสำคัญ
การใช้งานปั้นจั่นผู้ใช้งานต้องผ่านการอบรมเครน เพื่อให้สามารถใช้ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย และนอกจากผู้ใช้งานต้องผ่านการอบรมแล้ว ตัวของปั้นจั่นเองต้องได้รับการตรวจสอบตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เพราะหากมีการใช้งาน แต่ไม่มีการตรวจสอบ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นในขณะที่ใช้งานได้
การ ตรวจเครน ตรวจสอบปั้นจั่นประจำปีคืออะไร
“การตรวจเครน” คือ การตรวจสอบความเรียบร้อยของชิ้นส่วนหรือกลไกการทำงานของปั้นจั่น “การทดสอบ” คือ การตรวจสอบ ทดลอง และรับรองการใช้งานชิ้นส่วนอุปกรณ์หรือกลไกการทำงานของอุปกรณ์เพื่อความถูกต้อง และปลอดภัย ซึ่งการตรวจสอบและการทดสอบจะต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดขึ้นอยู่กับการใช้งานของปั้นจั่นแต่ละประเภทว่าต้องมีความถี่ในการตรวจสอบอย่างไรวันนี้เราจะมาดูกันว่าปั้นจั่นแต่ละประเภทต้องตรวจสอบอย่างไรบ้าง
ความถี่ในการตรวจสอบเครน และ ทดสอบปั้นจั่น
กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2564 กำหนดว่า “นายจ้างต้องจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของั้นจั่นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งตามประเภทและลักษณะของงาน” ซึ่งปั้นจั่นแต่ละประเภทมีระยะเวลาการตรวจสอบและทดสอบแตกต่างกัน ดังนี้
เครน ปั้นจั่นที่ใช้ในงานก่อสร้าง
- ขนาดพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนดไม่เกิน 3 ตัน ต้องทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นทุกๆ 6 เดือน
- ขนาดพิกัดยกมากกว่า 3 ตันขั้นไป ต้องทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นทุกๆ 3 เดือน
- ที่ไม่มีรายละเอียดขนาดพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด การทดสอบให้ทดสอบโดยใช้ขนาดพิกัดยกตามที่วิศวกรกำหนด
เครน ปั้นจั่นที่ใช้งานอื่นๆ
-
- ขนาดพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนดตั้งแต่ 1 ตัน แต่ไม่เกิน 3 ตัน ต้องทดสอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ของั้นจั่นปีละ 1 ครั้ง
- ขนาดพิกัดยกมมากกว่า 3 ตัน แต่ไม่เกิน 50 ตัน ต้องทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นทุกๆ 6 เดือน
- ขนาดพิกัดยกมากกว่า 50 ตันขึ้นไป ต้องทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นทุกๆ 3 เดือน
- ที่ไม่มีรายละเอียดขนาดพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด ให้ทดสอบโดยใช้ขนาด
พิกัดยกตามที่วิศวกรกำหนด
และหากเป็นปั้นจั่นที่หยุดใช้งานตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป หรือปั้นจั่นที่มีการซ่อมแซมที่มีผลต่อความปลอดภัยของปั้นจั่นก่อนนำมาใช้งานใหม่ต้องทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นด้วยนอกจากระยะเวลาในการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้วต้องมีการทดสอบการรับน้ำหนักของปั้นจั่นดังต่อไปนี้
- ปั้นจั่นใหม่ ก่อนนำมาใช้งานให้ทดสอบการรับน้ำหนักดังนี้
- ขนาดไม่เกิน 20 ตัน ให้ทดสอบการรับน้ำหนักที่ 1 เท่า แต่ไม่เกิน 1.25 เท่าของพิกัดยกอย่างปลอดภัย
- ขนาดมากกว่า 20 ตัน แต่ไม่เกิน 50 ตัน ให้ทดสอบการรับน้ำหนักเพิ่มอีก 5 ตัน จากพิกัดยกอย่างปลอดภัย
- ปั้นจั่นที่ใช้งานแล้ว ทดสอบการรับน้ำหนักที่ 1.25 เท่าของน้ำหนัก ที่ใช้งานจริงสูงสุดไม่เกินพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด กรณีไม่มีพิกัดยกอย่างปลอดภัยที่ผู้ผลิตกำหนด ให้ทดสอบการรับน้ำหนักตามที่วิศวกรกำหนก
การทดสอบการรับน้ำหนักของปั้นจั่นอาจใช้การทดสอบด้วยน้ำหนักจริงหรือทดสอบด้วยน้ำหนักจำลอง (Load Simulation)
เมื่อมีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นแล้วจะมีเอกสารปจ.1 และปจ.2 ออกไว้เป็นหลักฐานว่าปั้นจั่นนั้นผ่านการทดสอบแล้วและจะระบุรายละเอียดการทดสอบเอาไว้อย่างละเอียด
ปจ.1 คือรายการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์สำหรับปั้นจั่นเหนือศีรษะปั้นจั่นหอสูงและปั้นจั่นขาสูง (ปั้นจั่นชนิดอยู่กับที่)
ปจ.2 คือรายการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นและเรือปั้นจั่น (ปั้นจั่นชนิดเคลื่อนที่)
ใครคือผู้ตรวจเครน และ ทดสอบส่วนประกอบของปั้นจั่น
การทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์สำหรับปั้นจั่น ให้วิศวกรเครื่องกลเป็นผู้รับรอง ซึ่งต้องมีภาพถ่ายของวิศวกรในขณะทดสอบ และสำเนาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมเก็บไว้ด้วย ซึ่งหากบริษัทมีการว่าจ้างวิศวกรเครื่องกลดังกล่าว ต้องตรวจสอบการขึ้นทะเบียนตามมาตรา 9 หรือนิติบุคคลต้องขึ้นทะเบียนตามมาตรา 11 ตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ด้วย
สรุป
ตรวจเครน ตรวจสอบปั้นจั่น เป็นการตรวจส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่น ว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน และสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย ซึ่งปั้นจั่นแต่ละประเภทมีระยะเวลาในการทดสอบที่แตกต่างกัน โดยนายจ้างต้องจัดให้มีการทดสอบตามที่กำหนดไว้ และในการว่าจ้างต้องตรวจสอบการขึ้นทะเบียนตามมาตรา 9 หรือมาตรา 11 ด้วย ว่าถูกต้องตามที่กำหนดไว้ ทั้งนี้การตรวจสอบและทดสอบดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงาน และผู้อยู่ในบริเวณที่มีการใช้งานปั้นจั่น